TCAS รอบโควตา รูปแบบไหนเหมาะกับเรา?

จำนวนผู้เข้าชม 20,644
TCAS รอบโควตา รูปแบบไหนเหมาะกับเรา?



1.  โควตาพื้นที่

เมื่อพูดถึงรอบโควตา โควตาพื้นที่ หรือโครงการที่กำหนดพื้นที่ผู้สมัคร ก็นับเป็นโครงการแรกๆ ที่ใครหลายคนจะนึกถึงก่อน โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะกำหนดให้ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด และส่วนใหญ่ก็จะกำหนดเป็นพื้นที่เดียวกับที่ตั้งของมหาวิทยาลัย  หรือวิทยาเขตต่างๆ ของมหาวิทยาลัย 
 
สำหรับโควตาพื้นที่ จะสามารถแบ่งออกได้ 2  ลักษณะ คือ "ภูมิลำเนา"  และ/หรือ "ที่ตั้งโรงเรียน"  ของผู้สมัคร ที่จะต้องอยู่ในจังหวัด และ/หรือ อำเภอที่กำหนดไว้ และบางมหาวิทยาลัยอาจจะกำหนดรวมถึงภูมิลำเนาของบิดา มารดา หรือผู้ปกครองด้วย
 
ตัวอย่างโครงการ
  • โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท
  • โควตาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.ขอนแก่น
  • โควตา 28 จังหวัด และกรุงเทพฯ ม.ศิลปากร
  • โควตาจุฬา-ชนบท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • โครงการส่งเสริมโอกาสการศึกษาต่อในพื้นที่การดูแลของศูนย์อานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ม.เกษตรศาสตร์
 

2. โควตาเรียนดี

เป็นโครงการที่สนับสนุนนักเรียนที่มีผลการเรียนดี มักจะกำหนดใช้ผลการเรียนสะสม หรือ GPAX เป็นคุณสมบัติหลัก อาจจะมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของผู้สมัครไว้ หรือบางมหาวิทยาลัย บางโครงการอาจจะกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ไทล์ หรือลำดับที่ของผู้สมัครในลำดับชั้น นอกจากนี้บางมหาวิทยาลัยยังมีทุนการศึกษาให้กับน้องๆ ที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการลักษณะนี้ด้วย
 
ตัวอย่างโครงการ
  • โครงการธรรมศาสตร์ช้างเผือก ม.ธรรมศาสตร์
  • โครงการทุนเพชรสุนันทา มรภ.สวนสุนันทา
  • โครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี  ม.เชียงใหม่
  • โควตาเรียนดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
 

3. โควตานักกีฬา

หลายๆ มหาวิทยาลัยมักจะเปิดรับน้องๆ ที่มีความสามารถพิเศษทางด้านกีฬา โดยบางมหาวิทยาลัยอาจจะระบุชนิดกีฬาเอาไว้ บางมหาวิทยาลัยก็จะไม่ได้ระบุเอาไว้ แต่ส่วนมากจะระบุให้ระดับความสามารถไว้ เช่น เป็นนักกีฬาทีมชาติ เยาวชนทีมชาติ เป็นตัวแทนไปแข่งขันในระดับนานาชาติ  ได้รางวัลชนะเลิศ-รองชนะเลิศในรายการแข่งขันที่กำหนด ตัวแทนโรงเรียน ตัวแทนภูมิภาค ตัวแทนจังหวัด  เป็นต้น ซึ่งถ้าน้องๆ ไม่มีผลงานในระดับที่กำหนดไว้ก็ไม่แนะนำให้ยื่นสมัครนะคะ
 
ตัวอย่างโครงการ
  • โครงการรับผู้มีความสามารถทางกีฬาดีเด่น ม.เกษตรศาสตร์
  • โครงการคัดเลือกนักเรียนผู้มีความสามารถดีเด่นระดับชาติทางกีฬาฟุตบอล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • โครงการเปิดโอกาสให้กับนักเรียนผู้มีความสามารถด้านกีฬา ม.เชียงใหม่
 

4. โควตาด้านวิทยาศาสตร์

โควตาที่เปิดรับน้องๆ ที่มีความสามารถ หรือผลงานด้านวิทยาศาสตร์ ในสาขาวิชาต่างๆ ที่กำหนด หรือรับสมัครผู้ผ่านค่าย หรือผ่านการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการต่างๆ
 
ตัวอย่างโครงการ
  • โครงการคัดเลือกตรงเพื่อผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเเละนวัตกรรม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • โครงการรับนักศึกษาจากผู้เข้าค่ายฝึกอบรมโครงการส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
  • โครงการรับนักศึกษาจากผู้ผ่านการแข่งขันโครงการฟิสิกส์สัประยุทธ์ ม.สงขลานครินทร์
 

5. โควตาด้านวิชาการต่างๆ

บางมหาวิทยาลัยอาจจะเปิดรับในโควตาที่มีรายละเอียดค่อนข้างหลากหลาย รับน้องๆ ที่มีความสามารถพิเศษ หรือผ่านการแข่งขันด้านวิชาการอื่นๆ เช่น ความสามารถด้านภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ  การแข่งขันเกี่ยวกับการจัดการ-ประกอบธุรกิจ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ เป็นต้น
 
ตัวอย่างโครงการ
  • โครงการประเภทความสามารถทางวิชาการ มรภ.สวนสุนันทา
  • โควตาเพชรนนทรี (สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ วิชาเอกการสอนภาษาไทย) ม.เกษตรศาสตร์
 

6. โควตาทายาท/บุตร

สำหรับโครงการนี้ แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะเปิดรับสมัครน้องๆ ที่เป็นลูก เป็นหลานที่ถูกต้องตามกฎหมายของผู้ที่ประกอบอาชีพนั้นๆ เช่น เภสัชกร เกษตรกร บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น หรือเป็นลูก หลานของศิษย์เก่า  เจ้าหน้าที่ หรือบุคลากรของมหาวิทยาลัย/สถาบันนั้นๆ
 
ตัวอย่างโครงการ
  • โครงการลูกพระพิรุณ ม.เกษตรศาสตร์
  • โควตาบุตรธิดาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขหรือพนักงาน ม.แม่ฟ้าหลวง
  • โครงการทายาทธุรกิจการพิมพ์หรือบรรจุภัณฑ์  ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
 

7. โควตาขยายโอกาสทางการศึกษา

เป็นโครงการที่ต้องการเพิ่มโอกาส กระจายโอกาสให้กับน้องๆ ได้มากที่สุด มักจะกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกที่ไม่ซับซ้อน แต่ก็อาจจะมีบางมหาวิทยาลัยที่กำหนดพื้นที่ของผู้สมัคร แต่ก็บางมหาวิทยาลัยที่ไม่กำหนดพื้นที่ผู้สมัครเช่นกัน
 
ตัวอย่างโครงการ
  • โครงการคัดเลือกตรง มจธ. รักษาธรรม เพิ่มโอกาสทางการศึกษา  ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • โครงการคัดเลือกตรงโดยใช้คะแนน GAT/PAT เพื่อการกระจายโอกาสทางการศึกษา ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • โครงการส่งเสริมโอกาสศึกษาต่อในวิทยาลัยการชลประทาน ม.เกษตรศาสตร์
 

8. โควตาโรงเรียนเครือข่าย (MOU)

โครงการลักษณะนี้ก็จะมีความคล้ายคลึงกันกับโควตาพื้นที่ แต่จะเป็นการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร ที่จะต้องศึกษาอยู่ หรือสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียน หรือสถาบันที่กำหนด หรือเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกับมหาวิทยาลัยก็ได้
 
ตัวอย่างโครงการ
  • โควตาโรงเรียนเครือข่าย ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  • โควตาความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายการศึกษา ม.เกษตรศาสตร์
 

9. โควตาศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์

ใครที่มีความสามารถพิเศษด้านศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ก็พลาดไม่ได้กับโครงการลักษณะนี้ เพราะหลายๆ มหาวิทยาลัยก็จะมีโครงการที่รับน้องๆ ที่มีผลงานตามที่กำหนด อาจจะมีโจทย์ มีคำสั่งให้น้องๆ ได้แสดงฝีมือ สร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ หรืออาจจะให้แสดงผลงาน หรือรางวัลในอดีตที่ผ่านมาก็ได้
 
ตัวอย่างโครงการ
  • โครงการรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านการถ่ายภาพ ม.เชียงใหม่
  • โครงการรับ นร.ที่มีความสามารถทางด้านศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • โครงการรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

10. โควตานักเรียนพิการ

หลายๆ มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้น้องๆ ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายต่างๆ แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา โดยแต่ละสาขาวิชา แต่ละมหาวิทยาลัยจะกำหนดลักษณะความบกพร่องเอาไว้ด้วย
 
ตัวอย่างโครงการ
  • โครงการรับนักศึกษาพิการ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • โครงการรับนักเรียนพิการ ม.เชียงใหม่
  • โควตาผู้พิการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
 
 
 
หมายเหตุ : ตัวอย่างโครงการข้างต้น เป็นโครงการที่เปิดรับสมัครใน TCAS65



ข้อมูลจาก : ​https://www.dek-d.com/tcas/59334/

 

เข้าไปกดไลท์ กดแชร์ กดติดตามข่าวสารดีๆ จาก School Hug ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/SchoolHug2021
Twitter : twitter.com/school_hug
IG : www.instagram.com/schoolhug/

อัปเดตเมื่อ : 17 พ.ค. 2564 (00:00)